6 สาเหตุไฟดับ เพราะอะไรมาดูกัน พร้อมวิธีรับมือ

6 สาเหตุของไฟดับ พร้อมวิธีรับมือ

ไฟดับ คืออะไร ?

ไฟดับ เป็นปัญหาที่สามารถพบเจอได้บ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ฝนตกหนักๆ จะมีโอกาศที่ไฟดับได้สูงกว่าปกติ แต่จริงๆแล้วสาเหตุของไฟดับแบ่งออกได้เป็น 6 สาเหตุหลักๆ ดังนี้

สาเหตุของ ไฟดับ

1 . เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรภายในบ้าน

สาเหตุแรกอาจจะเกิดจากมีระบบไฟฟ้าลัดวงจรภายในบ้าน ซึ่งจะต้องหาสาเหตุและต้นตอของไฟฟ้าลัดวงจรให้ได้ เพื่อรีบทำการแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับคนภายในบ้าน

2 . เกิดจากภัยธรรมชาติ

เป็นสาเหตุหลักๆ ที่จะทำให้เกิดไฟดับขึ้นได้ โดยตัวอย่างภัยธรรมชาติที่อาจจะทำให้เกิดไฟฟ้าดับได้ นั่นจะมี ฝนตก มีลมพายุ ฟ้าผ่า ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ จะมีผลทำให้ฟิวส์หรืออุปกรณ์ป้องกันเกิดการทำงานทำให้ไฟตกในระยะเวลาหนึ่ง หรือไฟดับไปเลย

3 . เกิดจากสัตว์ต่าง ๆ

สัตว์บางชนิดที่สามารถปีนหรือบินขึ้นไปบนเสาไฟฟ้าได้ อาทิเช่น นก แมว จิ้งจก หรืองู ซึ่งสัตว์เหล่านี้ ถ้าได้ไปเกาะสายไฟฟ้า หรือลูกถ้วย จะมีโอกาส ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร หรือไฟช็อต ไหลผ่านตัวสัตว์ลงสู่ดิน ทำให้อุปกรณ์ป้องกันทำงาน และทำให้ไฟดับลง

4. เกิดจากสภาพแวดล้อม

ปัญหาไฟดับที่เกิดจากสภาพแวมล้อม สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิเช่น การเกิดการขัดข้องในส่วนของการผลิตไฟฟ้า อุปกรณ์ส่งไฟฟ้าทำงานผิดปกติ เกิดการลัดวงจรที่มีสาเหตุจากต้นไม้ที่ปลูกขึ้นตามแนวสายไฟฟ้า โดยเฉพาะต้นไม้นี้ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรบ่อยมาก และยิ่งเมื่อฝนตกมีลมแรงทำให้ลมพัดกิ่งไม้ไปแตะกับสายไฟ ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรชั่วคราว และส่งผลให้ไฟตกหรือไฟดับชั่วคราว

5. เกิดจากอุบัติเหตุ

ไฟดับที่เกิดจากอุบัติเหตุก็ยังเป็นอีกสาเหตุที่สามารถพบได้บ่อย ซึ่งอาจจะเกิดจากได้จากความประมาท ไม่รู้ ของคน อาทิเช่น ขับรถชนเสาไฟฟ้าจนล้มสายไฟฟ้าขาด การใช้เครื่องจักรทำงานในระหว่างที่ใกล้สายไฟฟ้า การตัดต้นไม้ที่อยู่ตามแนวเสาไฟฟ้า เป็นต้น

6. เกิดจากการไฟฟ้าตัดกระแสไฟฟ้า

ในส่วนนี้เกิดขึ้นจากทางการไฟฟ้าได้ทำการตัดไฟฟ้าด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะเกิดจาก เกิดจากการที่ระบบไฟฟ้ามีความชำรุดกระทันหัน เช่นเกิดจากอุบัติเหตุ จึงจำเป็นต้องตัดกระแสไฟฟ้า เพื่อเข้าไปแก้ไข หรือเกิดจากการที่การไฟฟ้าจะเข้าไปบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ตามพื้นที่ ซึ่งในข้อนี้ทางการไฟฟ้าจะประกาศล่วงหน้าทางหน้าเว็บไซต์ของการไฟฟ้าได้เรียบร้อยอย่างน้อย 3 วันทำการ

และเมื่อไฟดับเราควรต้องทำอย่างไร

1. ค้นหาต้นเหตุของไฟดับ เราควรจะรู้ก่อนว่าไฟดับที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเฉพาะภายในบ้านของเราเพียงหลังเดียว หรือเกิดขึ้นหลายหลังในเวลาพร้อมๆ กัน เพื่อให้เรารู้ว่าปัญหาไฟดับนั้นเกิดจากภายในบ้านของเราหรือเกิดจากปัจจัยภายนอกต่างๆ เพื่อจะได้รู้วิธีรับมือและแก้ไขต่อไป

2. ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เปิดอยู่ทั้งหมด หลังจากไฟดับเราควรรีบปิดสวิชต์และปลั๊กไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะเมื่อไฟฟ้ากลับมา อาจจะทำให้เกิดอาการ ไฟกระชาก และจะมีผลทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายได้ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการไฟฟ้าที่เสถียรอย่างมาก อาทิเช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

และนอกจากนี้เป็นการป้องกันการลืมปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า และลดการใช้งานไฟฟ้าโดยที่ไม่จำเป็นอีกด้วย

3. ลดการเปิดตู้เย็น ของสดในตู้เย็นสามารถเน่าเสียได้ง่าย ซึ่งในช่วงที่ไฟดับ ตู้เย็นหยุดทำงาน แต่ความเย็นภายในตู้เย็นยังเพียงพอที่จะรักษาอุณหภูมิได้อีกหลายชั่วโมง ดังนั้นควรเปิดตู้เย็นให้น้อยที่สุด หรือไม่ควรเปิดเลย

4. เปิดหน้าต่างบ้าง ในสภาวะที่ไม่สามารถใช้งานได้ทั้งพัดลมและแอร์ ถ้าปิดหน้าต่างทั้งหมด อากาศภายในบ้านก็จะไม่ถ่ายเถ ควรแง้มๆ หน้าต่างไว้บ้าง เพื่อให้อากาศถ่ายเท และไม่อึดอัด

5. เตรียมอุปกรณ์จำเป็นในระหว่างไฟดับไว้ให้พร้อมและใกล้มือ อาทิเช่น ไฟฉาย เทียนไข ไฟแช็ค(ไม้ขีดไฟ) หลอดไฟ LED แบบมีแบตเตอรี่ในตัว เพาเวอร์แบ้งค์ ชุดปฐมพยาบาล ซึ่งในระหว่างไฟดับถ้าจำเป็นจะต้องเคลื่อนไหวในความมืด ควรจะมีอุปกรณ์ส่องสว่างดังกล่าว เพื่อลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น และข้อสำคัญควรจะวางเทียนที่จุดแล้วเอาไว้ในจุดที่ปลอดภัย และห่างไกลจากเชื้อไฟด้วย เพื่อลดโอกาสที่จะมีแสงสว่างมากเกินไปที่เกิดจากอัคคีภัย

6. โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ ถ้าหากบ้านใกล้เรือนเคียงไฟฟ้าก็ดับเช่นเดียวกัน สิ่งที่ควรทำที่สุดคือติดต่อแจ้งการไฟฟ้า และรอเจ้าหน้าที่เข้ามาแก้ไขอย่างใจเย็น โดยช่องทางการติดต่อมีดังนี้

  • การไฟฟ้านครหลวง โทร 1130
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โทร 1129