รู้จักกับ เกลียว (Thread)

เกลียว คืออะไร ?

การจับยึดอุปกรณ์สองชิ้นเข้าด้วยกัน มีอยู่ในหลากหลายวิธี ทั้งในแบบการยึดแบบถาวร และการยึดแบบชั่วคราว โดยการจับยึดแบบถาวร จะมีวิธีเช่น การเชื่อม ยึดด้วยกาว แต่ในวันนี้เราจะพูดถึงการจับยึดแบบชั่วคราววิธีหนึ่ง นั่นคือ การใช้เกลียวนั่นเอง

เกลียว (Thread) คืออะไร ?

เกลียว (Thread) หมายถึงสันหรือร่องที่ได้เกิดขึ้นบนผิวเนื้องาน โดยจะมีลักษณะเป็นร่องวนไปรอบๆ เนื้องาน ได้ทั้งหมุนวานไปทางซ้ายและทางขวา และมีระยะที่สม่ำเสมอ ซึ่งเกลียวตัวนี้จะมีไว้เพื่อให้ วัสดุ 2 ชิ้น สามารถหมุนและยึดติดกันได้แน่น และเกลียวเองก็ยังมีจุดเด่นด้วย คือ วัสดุที่ได้ทำการยึดกัน ก็ยังสามารถหมุนออกจากกันได้โดยง่ายโดยที่ตัวเนื้องานไม่เสียหาย

ลักษณะของเกลียว

  • เกลียวนอก (External Thread) – เป็นเกลียวที่อยู่ด้านนอกของตัวอุปกรณ์ หรือจะเรียกอีกอย่างว่า เกลียวตัวผู้
  • เกลียวใน (Internal Thread) – เป็นเกลียวที่อยู่ด้านในของตัวอุปกรณ์ หรือจะเรียกอีกอย่างว่า เกลียวตัวเมีย
  • เกลียวขวา (Right Hand Thread) – เป็นเกลียวที่มีทิศทางการหมุนไปตามเข็มนาฬิกา ทิศทางนี้สามารถพบเห็นได้บ่อยที่สุดในชีวิตประจำวัน
  • เกลียวซ้าย (Left Hand Thread) – เป็นเกลียวที่มีทิศทางการหมุนทวนเข็มนาฬิกา อาจจะพบเห็นไม่ได้บ่อยนัก

ซึ่งการใช้งานเพื่อที่จะทำให้ยึดอุปกรณ์เข้าด้วยกันได้ จะต้องใช้ อุปกรณ์ที่มีเกลียวนอกหมุนติดเข้าไปในอุปกรณ์ที่มีเกลียวใน และมีทิศทางของเกลียวไปในทางเดียวกัน

ค่าต่างๆ ของเกลียว

  • ยอดเกลียว (Crest) – คือส่วนที่เป็นขอบที่สูงสุดของตัวเกลียว
  • ฐานเกลียว (Root) – คือส่วนที่เป็นจุดที่ต่ำที่สุดของเกลียว
  • มุมของเกลียว (Thread Angle) – เป็นมุมองศาความกว้างระหว่างเกลียวที่อยู่ติดกัน
  • Pitch – คือระยะห่างระหว่างยอดเกลียวหนึ่งไปยังอีกยอดเกลียวหนึ่ง
  • Lead – คือระยะเกลียวที่เคลื่อนที่ไป เมื่อหมุนเกลียวครบ 1 รอบ ถ้าค่า Pitch มีค่าท่ากับ Lead เมื่อหมุนเกลียวครบ 1 รอบ เกลียวจะเคลื่อนที่ไปได้เป็นระยะ 1 ยอดเกลียว ถ้าหากค่า Lead มีระยะเท่ากับ 3 ยอดเกลียว เมื่อหมุนเกลียวครบ 1 รอบ เกลียวจะเคลื่อนที่ไปได้ 3 ยอดเกลียว
  • รูปร่างของเกลียว (Thread Form) เป็นรูปร่างของเกลียว โดยทั่วไปแล้วเกลียวจะมีอยู่ในหลากหลายรูปแบบ ตามความเหมาะสมกับการใช้งาน

ชนิดของเกลียว ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน

ปัจจุบันมีมาตรฐานที่ออกแบบเกลียว ออกมามากมาย โดยที่ในแต่ละเกลียวจะมีขนาดของเกลียว องศาของเกลียว ระยะ Pitch ที่แตกต่างกัน ถ้าหากเราจะเลือกซื้ออุปกรณ์ใดๆ ที่มีเกลียวมาใช้งาน เราควรจะทราบถึงเกลียวที่เราใช้งาน เพราะถ้ามีการเปลี่ยนอุปกรณ์แล้วชนิดของเกลียวไม่ตรงกัน จะไม่สามารถใช้งานได้ เพราะแต่ละเกลียวจะมีค่าที่ไม่เท่ากันนั่นเอง

เกลียว M (Metric) เป็นเกลียวที่ได้รับความนิยมและเข้าใจง่าย มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เกลียวมิล โดยการวัดระยะห่างระหว่างเกลียว (Pitch) ใช้หน่วยเป็นมิลลิเมตร

เกลียว NPT (National Pipe Thread Taper) เป็นเกลียวที่เป็นมาตรฐานจากประเทศอเมริกา ซึ่งในบ้านเราจะเรียกเกลียวชนิดนี้ว่า เกลียวหุน โดยจะมีหน่วยวัดเป็น นิ้ว มักจะพบได้บ่อยในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ท่อน้ำ

เกลียว PG (German PG Thread) เป็นเกลียวชนิดหนึ่งที่มีมาตรฐานจากประเทศเยอรมนี ซึ่งจะมีความต่างที่ มีมุมของเกลียวที่กว้างกว่า ทำให้ระยะ Pitch มีระยะที่มากกว่า

ที่มา : chula.ac.th